อุปสมบทกรรมตามพระธรรมวินัย พุทธบัญญัติ

คุณสมบัติของกุลบุตร ที่จะบรรพชาอุปสมบท

* * * * * * * * * * * * * * *

บุคคลอันสงฆ์พึงรับให้อุปสมบท

๑. ต้องเป็นผู้ชาย มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์

๒. มิใช่อภัพบุคคลผู้ถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาด

อภัพบุคคลถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดมี  ๓  จำพวก

๑. คนมีเพศบกพร่อง

๒. คนประพฤติผิดพระธรรมวินัย และ

๓. คนประพฤติผิดต่อกำเนิดของตน

คนมีเพศบกพร่องมี  ๒  จำพวก

๑. ปณฺฑโก แปลว่า บัณเฑาะก์

2. อุภโตพยญฺชนโก แปลว่า คนมีทั้ง ๒ เพศ

บัณเฑาะก์ นั้น  ได้ความตามบาลีและอรรถกถานัยว่า ได้แก่ ชายมีราคะกล้า ประพฤตินอกจากรีตในทางเสพกาม และยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น ๑  ชายผู้ถูกตอน ๑  กระเทยโดยกำเนิด ๑  อย่างไรจึงห้ามอุปสมบท  บัณเฑาะก์  เข้าใจว่าคนชนิดนี้เป็นที่รังเกียจของคนอื่นในการเล่นสวาท

อุภโตพยัญชนก  นั้น พระอรรถกถาจารย์แก้ว่ามี ๒  เป็นหญิงก็มี  เป็นชายก็มี  เป็นอุภโตพยัญชนก  ชนิดใด  ภาวรูป (คือ อวัยวะเพศ)  ชนิดนั้นปรากฏอยู่โดยปกติ  ต่อทำกิจของอีกฝ่ายหนึ่งในอัธยาจาร  ภาวรูปอีกอย่างหนึ่ง  จึงปรากฏแทนภาวรูปเดิม

อุภโตพยัญชนกที่เป็นชาย นั้น เป็นชายโดยกำเนิด แต่มีภาวรูปอีกอย่างหนึ่งปรากฏโดยสัณฐานด้วย ที่เป็นหญิงโดยกำเนิด  แต่มีภาวรูปอีกอย่างหนึ่งปรากฏโดยสัณฐานด้วย

อุภโตพยัญชนก  นั้น  ถ้าหมายถึงคนผู้มีอาการและจริตตรงกันข้ามต่อภาวะของตน   เช่น   ชายมีอาการเป็นหญิง  เป็นต้นว่าไม่มีหนวด  มีเสียงเหมือนของผู้หญิง  มีจริตกิริยาอย่างของผู้หญิง เข้าทีว่า มีคนอย่างนั้นอยู่ในหมู่  คนนอกอาจสำคัญว่ามีหญิงปลอมเป็นภิกษุอยู่ด้วย

คนประพฤติผิดพระธรรมวินัยมี ๗ จำพวก

๑. อรหนฺตฆาตโก คนฆ่าพระอรหันต์

๒. ภิกฺขุนีทูสโก คนประทุษร้ายนางภิกษุณี

๓. เถยฺยสํวาสโก คนลักเพศ

๔. ติตฺถิยปกฺกนฺโต ภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์

๕. ปาราชิโก ภิกษุต้องปาราชิกละเพศไปแล้ว

๖. สงฺฆเภทโก ภิกษุผู้ทำสังฆเภท

๗. โลหิตุปฺปาทโก คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต

คนลักเพศ นั้น  คือ  ถือเพศภิกษุเอาเอง ด้วยตั้งใจจะปลอมเข้าอยู่ในหมู่ภิกษุ เช่น พวกเดียรถีย์ปลอมเข้าอยู่ในหมู่ภิกษุครั้งพระเจ้าอโศก  เป็นแต่สักว่าทรงเพศเพราะเหตุอย่างอื่น  เป็นต้นว่าเพื่อหนีภัย  ท่านไม่จัดเป็นลักเพศ

ภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์  นั้น  เพ่งเอาผู้ไปเข้ารีตทั้งกำลังเป็นภิกษุ  คฤหัสถ์เข้ารีต  หรือสึกแล้วจึงเข้า  ไม่จัดเป็นอภัพบุคคล

คนผู้ทำสังฆเภท นั้น  หมายเอาภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน ภายหลังแตกจากสงฆ์ไปตั้งคณะหนึ่งต่างหาก มีพระเทวทัตเป็นตัวอย่าง การจัดภิกษุผู้ทำสังฆเภทเป็นอภัพบุคคลนั้น ส่องความว่า แม้ภิกษุนั้นกลับใจมาขอเข้าหมู่อีกห้ามมิให้รับเข้าเป็นอันขาด

คนประพฤติผิดต่อกำเนิดของตนมี ๒ จำพวก

๑. มาตุฆาตโก คนฆ่ามารดา

๒. ปิตุฆาตโก คนฆ่าบิดา

อภัพบุคคลเหล่านี้  รู้มาแต่แรก  ไม่พึงรับอุปสมบทให้ อุปสมบทให้แล้วด้วยไม่รู้ ภายหลังรู้ขึ้น พึงนาสนะเสีย  คือ  ให้ฉิบหายเสียจากเพศ

คนถูกห้ามบรรพชาอุปสมบทมี ๘ จำพวก

ได้แก่โรค ๕ อย่าง คือ :-

๑. กุฏฺฐฃํ         โรคเรื้อน

๒. คณฺโฑ โรคฝี

๓. กิลาโส โรคกลาก  โรคพยาธิ

๔. โสโส โรคมองคร่อ

๕. อปมาโร โรคลมบ้าหมู 

คนเป็นโรคเหล่านี้ ที่รักษาหายเป็นปกติแล้ว รับให้บรรพชาอุปสมบทได้

คนมีอวัยวะบกพร่องมี ๙ จำพวก

๑. หตฺถจฺฉินฺโน คนมีมือขาด

๒. ปาทจฺฉินฺโน คนมีเท้าขาด

๓. หตฺถปาทจฺฉินฺโน คนมีทั้งมือ ทั้งเท้าขาด

๔. กณฺณจฺฉินฺโน คนมีหูขาด

๕. นาสจฺฉินฺโน คนมีจมูกขาด  (จมูกแหว่ง)

๖. กณฺณนาสจฺฉินฺโน คนมีทั้งหู ทั้งจมูกขาด

๗. องฺคุลิจฺฉินฺโน คนมีนิ้วมือเท้าขาด

๘. อสจฺฉินฺโน คนมีง่ามมือ ง่ามเท้าขาด

๙. กณฺฑรจฺฉินฺโน คนมีเอ็นขาด

คนมีอวัยวะไม่สมประกอบมี  ๖  จำพวก

๑. ผณหตฺโถ คนมีมือเป็นแผ่น คือ นิ้วมือไม่ได้จัดเป็นง่าม มีหนังติดกันในระหว่าง

๒. ขุชฺโช คนค่อม คือ มีหลังโกง

๓. วามโน คนเตี้ย คือ เตี้ยกว่าคนปกติ

๔. คลคณฺฑี คนคอพอก

๕. สีปที คนตีนปุก

๖. ปริสทูสโก คนประทุษร้ายบริษัท คือ คนแปลกเพื่อน อรรถกถาแก้ว่า

อติทีโฆ วา สูงเกินไปบ้าง

อติรสฺโส วา ต่ำเกินไปบ้าง

อติกาโฬ วา ดำเกินไปบ้าง

อจฺโจทาโต วา ขาวเกินไปบ้าง

อติกีโส วา ผอมเกินไปบ้าง

อติถูโล วา อ้วนเกินไปบ้าง

อติมหนฺตสีโส วา มีศีรษะเขื่องเกินไปบ้าง

อติขุทฺทกสีโส วา มีศีรษะหลิมเกินไปบ้าง  เป็นต้น

ในจำพวกคนแปลกเพื่อนเหล่านี้ คนที่แก้หาย เช่น คนมีมือเป็นแผ่น ตัดหนังในระหว่างเสีย พ้นจากการถูกห้าม



คนพิการมี  ๙  จำพวก

๑. ปสนฺนนฺโธ คนตาบอดตาใส คือ คนเป็นต้อกระจก

๒. กุณี คนง่อย คือ :-

หตฺถกุณี วา มีมือหงิกบ้าง

ปาทกุณี วา มีเท้าหงิกบ้าง

องฺคิลิกุณี วา มีนิ้วหงิกบ้าง

๓. ขญฺโช คนกระจอก คือ มีเท้า หรือขาพิการ เดินไม่ปกติ ต้องเดินโขยก

๔. อนฺโธ คนตาบอดมืด คือ มีดวงตาเสีย

๕. มูโค คนใบ้

๖. พธิโร คนหูหนวก

๗. อนฺธมูโค คนทั้งบอด  ทั้งใบ้

๘. มูคพธิโร คนทั้งใบ้  ทั้งหนวก 

๙. อนฺธมูคพธิโร คนทั้งบอด  ทั้งใบ้  ทั้งหนวก 

คนทุรพลมี  ๒  จำพวก

๑. ชราทุพฺพโล คนแก่ง่อนแง่น  (ทำงานไม่ไหว)

๒. ฉินฺนิริยาปโถ คนมีอิริยาบถขาด ดือ คนเปลี้ย เส้นประสาทพิการ ข้อลำล้ำไม่ถึงอัมพาต 

คนมีเกี่ยวข้องมี  ๔  จำพวก

๑. มาตาปิตูหิ อนนุญฺญฃาโต คนอันมารดา บิดา ไม่ได้อนุญาต

๒. ราชภโฏ คนเป็นราชภัฎ คือ ข้าราชการอันพระราชาเลี้ยง

๓. อิโณ คนมีหนี้สิน

๔. ทาโส คนเป็นทาส

คนจำพวกนี้พ้นจากเกี่ยวข้องแล้ว คือ บุตรได้รับอนุญาตของมารดา  บิดา  ราชภัฎ  ได้รับอนุญาตของพระราชา  หรือเจ้าหน้าที่เหนือตน  คนมีหนี้สินเสร็จแล้ว  คนเป็นทาสได้รับปลดเป็นไทแล้ว  รับบวชได้

คนเคยถูกอาชญาหลวงมี  ๒  จำพวก

๑. กสาหโต คนถูกเฆี่ยนหลังลาย คือ มีรอยแผลเป็นที่หลัง

๒. ลกฺขณาหโต คนถูกสักหมายโทษ  เช่น  ในกาลก่อนคนต้องปาราชิก ถูกสักหน้า

ส่วนคนถูกสักหมายหมู่ เช่น พวกเลขในกาลก่อน และพวกทหารใน

กาลเป็นลำดับ  ไม่นับเข้าในบทนี้

คนประทุษร้ายความสงบมี  ๓  จำพวก

๑. ธชพทฺโธ  โจโร โจรผู้ร้ายที่ขึ้นชื่อโด่งดัง

๒. การเภทโก คนโทษหนีเรือนจำ

๓. ลิขิตโก คนผู้ถูกเขียนไว้  คือ  มีประกาศบอกว่า พบเข้าในที่ใดให้ฆ่าเสียในที่นั้น

ได้แก่  คนทำผิดอันกฎหมายไม่คุ้มไว้ ใครฆ่า  หรือ  ทำร้ายไม่มีโทษ


คนต้องห้ามไม่ให้อุปสมบทมีอีก  ๓  จำพวก

๑. คนไม่มีอุปัชฌาย์  หรือมีคนอื่นจากภิกษุเป็นอุปัชฌาย์  หรือ  ถือสงฆ์  ถือคณะ  เป็นอุปัชฌาย์

๒. คนไม่มีบาตร  ไม่มีจีวร  หรือไม่มีทั้งบาตร  ทั้งจีวร

๓. คนยืมบาตร  ยืมจีวร  หรือยืมทั้งบาตร  ทั้งจีวรเขามา



คนต้องห้ามบรรพชาอุปสมบทเพิ่มอีก  ๗  จำพวก

ตามกฎมหาเถรสมาคม  ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๓๖)  ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ.๒๕๓๕) หมวด ๓  หน้าที่พระอุปัชฌาย์ได้ตราสั่งบังคับพระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามไว้  ดังนี้ :-

ข้อ ๑๔ พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้าม  เหล่านี้

(๑) คนทำความผิด  หลบหนีอาญาแผ่นดิน

(๒) คนหลบหนีราชการ

(๓) คนต้องหาในคดีอาญา

(๔) คนเคยถูกตัดสินจำคุก  โดยฐานผู้ร้ายสำคัญ

(๕) คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา

(๖) คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ  เช่น  วัณโรคในระยะอันตราย

(๗) คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้


* * * * * * * * * * * * * * *


                              กฎระเบียบของทางวัดมเหยงคณ์อีก ๖ ข้อ

      ๑. ต้องไม่เป็นผู้เสพสิ่งเสพติดทุกชนิด รวมทั้งบุหรี่ ต้องเว้นขาดก่อนบวชอย่างน้อย ๑๕ วัน

      ๒. ต้องไม่เป็นผู้ป่วยทางจิตประสาท และรับประทานยาประจำ อยู่ในการติดตามรักษาของแพทย์

      ๓. ร่างกายต้องไม่มีรอยสักยันต์ที่ปรากฏชัดเจน

      ๔. ต้องไม่ใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด เช่น โทรศัพท์ แท็บเล็ต เป็นต้น ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาบวชเป็นนาค

      ๕. อุปสมบทแล้ว วันรุ่งขึ้นจะต้องเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมบานเก็บวาจา งดพูดคุย งดรับแขก

    ๖. ระหว่างบวชเป็นภิกษุอยู่ ต้องไม่รับเงินทองเก็บไว้ใช้จ่ายด้วยตนเอง หากมีญาติโยมถวาย ให้ญาติโยม ฝากอยู่กับ              กัปปิยการก ไวยาวัจกร หรือเจ้าหน้าที่ของวัด ภิกษุเรียกใช้ได้เฉพาะของที่ควรแก่สมณะบริโภค


เอกสารที่ต้องเตรียมมาในวันที่สมัครบวช มีดังนี้  :-

ในส่วนภูมิภาคสามารถรับผลการรตรวจสอบประวัติ ได้ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานจังหวัด